เริ่มต้นถ่ายวิดีโอด้วย 8 มุมกล้องสุดเบสิค

22/09/22
0 view(s)
เริ่มต้นถ่ายวิดีโอด้วย 8 มุมกล้องสุดเบสิค

 

       เริ่มต้นเป็น Youtuber, Filmmaker หรือต้องการทำคอนเทนต์วิดีโอ อย่างแรกเลยก็ต้องรู้เบสิคของมุมกล้องก่อน แล้วค่อยเอาไปปรับใช้กับวิดีโอ ว่าเราจะต้องใช้มุมกล้องแบบไหน เพื่อสื่อสารวิดีโอออกมาให้คนดูสามารถเข้าใจ เพราะแต่ละมุม ก็ให้อารมณ์ หรือ mood & tone ที่ต่างกันด้วย ถ้าเราเลือกใช้ได้ถูกต้อง ก็จะส่งเสริมให้ภาพออกมาชัดเจนมากยิ่งขึ้น

1. มุมระดับสายตา (Normal Angle shot)


       มุมระดับสายตา เป็นมุมที่คนถ่ายวิดีโอนิยมใช้กันมากที่สุด อย่างการถ่าย Vlog การถือกล้องจะอยู่ในระนาบเดียวกับระดับสายตา เป็นมุมที่เสนอให้เห็นภาพจริงๆ มุมตรงๆ ซึ่งการใช้มุมระดับสายตาอาจจะทำให้ภาพอาจจะดูแบน หรือไม่ค่อยมีมิติ

 

Cr. Anna Shvets

       มุมระดับสายตา ถือว่าเป็นมุมเบสิคที่ใคร ๆ ก็ใช้กัน แต่จะถ่ายยังไงให้ได้มุมมองที่สวย? แนะนำให้หาจุดเด่น หรือสร้างฉากหน้า (foreground) เพราะจะทำให้มีจุดนำสายตาไปสู่สิ่งที่ต้องการเล่าเรื่อง ซึ่งถ้ามุมกล้องนี้อยู่ในหนัง ซี่รี่ส์หรือวิดีโออะไรก็ตาม โดยไม่มีระดับความสูง-ต่ำเข้ามา จะทำให้การตีความดูเป็นกลาง ดูไม่โอนเอนไปด้านใดด้านหนึ่ง

2. มุมกล้องระยะไกลมาก (Extreme long shot)

 

Cr. Nick Wehrli, Тимофей Овчинников

       มุมกล้องระยะไกลมาก จะเป็นช็อตที่ให้เห็นภาพกว้าง ส่วนมากจะอยู่ในซีนเปิดเรื่อง ว่าพื้นที่ที่จะเล่าเรื่องจะอยู่ที่ไหน เช่น ทะเล ภูเขา ป่า เมือง เพื่อให้คนดูเข้าใจบริบทของตัวละครว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือเปลี่ยนฉากใหม่ ว่าฉากต่อไปจะมีเนื้อเรื่อง หรือเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร

 

Cr. Luciann Photography

       ซึ่งในการถ่ายระยะไกลมากในยุคนี้ ไม่จำเป็นต้องหาดูแค่ในหนังแล้ว เพราะมีอุปกรณ์อย่าง “โดรน” ที่เข้ามาช่วยให้เก็บภาพมุมกว้าง หรือระยะไกลมาก ๆ ได้แล้ว

3. มุมกล้องระยะไกล (Long shot)

 

Cr. Ketut Subiyanto

       ในระยะมุมกล้องระยะไกล จะต่างจากมุมกล้องระยะไกลมากตรงที่จะโฟกัสกับตัวแบบ หรือ วัตถุมากกว่า เป็นช็อตที่แสดงให้เห็นตัวแบบหรือวัตถุเต็มตัว เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่เราโฟกัสอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หรือ มีความสัมพันธ์แบบไหนกับสิ่งรอบ ๆ ตัว เพื่อแสดงให้เห็นพฤติกรรม และเข้าใจบริบทมากขึ้น

4. มุมกล้องระยะกลาง (Medium shot)

 

Cr. Liliana Drew

       ส่วนมุมกล้องระยะกลาง จะเข้าใกล้ตัวแบบ หรือวัตถุมากยิ่งขึ้น แต่จะเป็นตั้งแต่ช่วงกลาง จนถึงบนสุด หรือถ้าเป็นตัวแบบ จะอยู่ในระยะตั้งแต่เอว ไปจนถึงหัวของตัวแบบ เพื่อให้เห็นการแสดงออกของสีหน้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือการกระทำที่ใกล้ชิดกว่าเดิม ส่วนใหญ่จะใช้ในช็อตที่เราต้องการสื่อสารกับคนดู หรือว่าในช็อตที่เป็นคน 2 คน กำลังพูดคุยกัน เพื่อให้คนดูได้สังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมของคู่สนทนาได้

5. มุมกล้องระยะใกล้ (Close-up)

 

Cr. fauxels

       มุมกล้องระยะใกล้ จะเป็นการถ่ายในช่วงไหล่ ขึ้นไปถึงช่วงหัว เพื่อแสดงให้ถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตัวแบบอย่างเต็มที่ จะเป็นการโฟกัสอารมณ์แบบหนัก ๆ เพื่อให้คนดูเห็น และเข้าใจอย่างชัดเจนว่าตัวแบบรู้สึกอย่างไร

6. มุมกล้องระยะใกล้มาก (Extreme close-up)

 

Cr. Ricardo Esquivel

 

Cr. Tima Miroshnichenko

       มุมกล้องระยะใกล้มาก จะโฟกัสวัตถุ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อให้เห็นดีเทลหรือรายละเอียดของส่วนต่าง ๆ อย่างชัดเจน เช่น เล่นเรื่องเวลา ด้วยการโฟกัสที่เข็มนาฬิกา เพื่อให้เห็นว่าเวลาในซีนนี้สำคัญแค่ไหน

7. มุมกล้องระดับสูง (High angle)


       มุุมสูงก็เป็นอีก 1 มุมเบสิคสำหรับการถ่ายวิดีโอ ซึ่งมุมสูงจะเป็นมุมที่อยู่เหนือกว่ามุมปกติ อาจจะเป็นมุมที่อยู่เหนือหัวตัวละคร วัตถุ มุมนี้จะให้ความรู้สึกว่าไม่ได้โฟกัสตัวละครหรือวัตถุมากนัก แต่จะนำสายตาคนดูไปด้านหลัง

 

Cr. Mikhail Nilov

       หรือมุมสูงอีกแบบจะเป็นมุมที่กดต่ำมาจากมุมสูง จะเอียงกล้องลงต่ำไปทางตัวแบบ ในมุมนี้นิยมใช้เพื่อให้ความรู้สึกด้อยค่า เศร้า โดนดูถูก หรือดูสิ้นหวัง

8. มุมกล้องระดับต่ำ (Low angle)

 

Cr. Free Videos

       มุมกล้องจะเป็นมุมมองจากมุมต่ำ จะเป็นการถือกล้องในตำแหน่งที่ต่ำกว่าระดับสายตา อาจจะวางระนาบเดียวกับพื้นและถ่ายตรง หรือจะถ่ายขึ้นไปเป็นมุมเสยก็ได้

 

Cr. Thirdman

       ซึ่งถ้าเป็นการถ่ายในระนาบเดียวกับพื้น จะถ่ายพวกการเดินไปมาของผู้คน หรือโฟกัสสิ่งเล็ก ๆ ที่อยู่บนพื้น แต่ถ้าถ่ายเป็นมุมเสย อย่างถ่ายคนมุมเสย แล้วให้เห็นฉากหลังแบบกว้าง ๆ จะทำให้เห็นว่าในมุมนี้จะทำให้เห็นว่าตัวละครดูยิ่งใหญ่ มีพลัง มั่นใจ ให้ฟีลตัวละครประสบความสำเร็จ

       นอกจากมุมเบสิคทั้ง 8 มุมที่บอกไปแล้ว ยังมีมุมกล้องที่นิยมใช้กันมากในตอนนี้ คือ การเก็บภาพมุมสูงจากโดรน ไม่ว่าจะเป็นคลิปท่องเที่ยว หรือ Filmmaker ที่ต้องการได้ช็อตใหม่ ๆ หรือ มุมมองใหม่ เพื่อดึงดูดคนดู ก็จะใช้โดรนเก็บฟุตเทจสวย ๆ ได้ภาพมุมกว้างขึ้น เพื่อมาลงในคลิป ใครที่สนใจมุมภาพแบบใหม่นี้ก็เข้าไปดูการ ครีเอทมุมภาพด้วยโดรน ให้วิดีโอมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น!

บทความ ก่อนหน้านี้:
บทความ ถัดไป:

หมวดหมู่สินค้า